วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ศัพท์สังคีตทางดนตรี

        ศัพท์สังคีตทางดนตรี

        เพลง คือทำนองที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยมีสัดส่วน มีจังหวะ วรรคตอนและสัมผัสถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของดุริยางค์ศิลป์ โดยใช้ถ้อยคำ เสียง สระ อักษรวรรณยุกต์ ตามกฎแห่งฉันทาลักษณ์
ทำนอง คือ เสียงสูง เสียงต่ำ สลับกัน จะมีความสั้นยาว เบาแรงอย่างไรก็แล้วแต่ความประสงค์ของผู้แต่ง
ร้อง คือการเปล่งเสียงออกไปให้เป็นทำนอง จะมีถ้อยคำหรือไม่มีก็ได้หรือมีแต่สระอะไรก็ได้ แต่ต้องถือทำนองเป็นสำคัญ ถ้อยคำต้องน้อมเข้าทำนอง
จังหวะ หมายถึงการแบ่งส่วนย่อยของทำนองเพลง ซึ่งดำเนินไปด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ ทุกส่วนที่แบ่งนี้คือ จังหวะ จังหวะที่ใช้ในการดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 3 อย่าง
   1. จังหวะสามัญ จังหวะทั่วไปที่จะต้องยึดถือเป็นหลักสำคัญของการขับร้องและบรรเลง แม้จะไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องให้สัญญาณจังหวะก็ต้องมีความรู้สึกในใจตลอดเวลา
   2 .จังหวะฉิ่ง เป็นการแบ่งจังหวะด้วยเสียงที่ตีฉิ่ง เพื่อให้รู้จังหวะเบา หรือ หนัก จังหวะฉิ่งเป็นจังหวะเบา จังหวะฉับเป็นจังหวะหนัก ส่วนจะตีถี่ห่างอย่างไรอยู่ที่ลักษณะเพลง
   3. จังหวะหน้าทับ คือการถือหน้าทับเป็นเกณฑ์นับจังหวะ เมื่อหน้าทับตีจบไปเที่ยวหนึ่งก็นับเป็น 1 จังหวะ ตีจบสองเที่ยวเป็น 2 จังหวะ
ท่อน คือการกำหนดส่วนใหญ่ส่วนหนึ่ง ซึ่งแบ่งจากเพลง ปกติเมื่อบรรเลงเพลงใดก็ตาม หากจบท่อนหนึ่งๆแล้ว มักจะกลับต้นบรรเลงซ้ำท่อนนั้นอีกโดยจะเขียนว่า ซ้ำ , กลับต้น , กต. หรือใช้เครื่องหมาย //---- //
เถา คือเพลงเพลงเดียวกัน แต่มีอัตราลดหลั่นกันลงไป ตั้งแต่อัตราสามชั้น สองชั้น และชั้นเดียว ( จะไม่เรียก1ชั้น )
ตับ หมายถึงเพลงหลายเพลงนำมาร้องและบรรเลงในอัตราเดียวกัน ติดต่อกันไป ซึ่งแยกออกได้เป็น 2 ชนิด
   1. ตับเรื่อง เพลงที่นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น มีบทร้องเรื่องเดียวกันและดำเนินไปโดยลำดับ ส่วนทำนองเพลงจะเป็นคนละอัตราคนละประเภท ถือว่าไม่สำคัญ
   2. ตับเพลง คือเพลงที่นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกัน เป็นทำนองเพลงที่มีอัตราเดียวกัน เช่น 2 ชั้น 3 ชั้นส่วนบทร้องจะมีเนื้อร้องอย่างไร เรื่องเดียวกันหรือไม่ไม่สำคัญ
ทอด 1. การผ่อนจังหวะให้ช้าลง ก่อนที่จะจบเพลงหรือจบท่อน เพื่อให้คนร้อง
   2. เพื่อจะหยุดให้มีการเจรจา การร้องนี้ต้องมีการเอื้อนเล็กน้อย

หน้าทับ การนับจังหวะด้วยการตีกลอง เพลงกลองเราเรียกว่า หน้าทับ เช่น เพลงลาว เพลงเขมร เพลงแขก จะเรียกว่า หน้าทับลาว หน้าทับเขมร หน้าทับแขก
ทาง มีความหมาย แยกเป็น 3 ประเภท
   1. หมายถึง การดำเนินทำนองโดยเฉพาะเครื่องดนตรี เช่น ทางระนาด ทางฆ้อง ทางซอ
   2. หมายถึง การดำเนินทำนองเพลงที่ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่นทางของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ทางของ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นต้น
   3. หมายถึง ระดับเสียงของเพลงที่บรรเลง ซึ่งกำหนดชื่อเรียกเป็นที่รู้จักของนักดนตรีทุกคน
เพี้ยน คือที่ไม่ตรงกับระดับที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง เสียงบรรเลงดนตรีชนิดใดก็ตาม ถ้าเสียงผิดจากระดับเสียงที่ถูกที่ควร สูงไป ต่ำไป เพียงเล็กน้อย ก็เรียกว่าเสียงเพี้ยน
หน้าพาทย์ หมายถึง เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาอาการของมนุษย์ สัตว์วัตถุหรือธรรมชาติ ทั้งกิริยาที่มีตัวตนหรือสมมุติ ตลอดกิริยาที่เป็นปัจจุบันหรืออดีต
ไหว หมายถึงการบรรเลงให้เสียงดนตรีหลายๆ เสียงที่ติดต่อกันเป็นระยะถี่และจังหวะเร็ว หากทำได้ถี่และเร็วมากก็เรียกว่าไหว
เอื้อน ใช้ในการขับร้อง หมายถึงการขับร้องที่มีทำนองโดยใช้เสียง ไม่มีถ้อยคำ สำหรับบรรจุทำนองเพลงให้ถูกต้องครบถ้วนในเมื่อบทร้องไม่พอกับทำนองเพลง และเพื่อตกแต่งให้ถ้อยคำชัดเจนยิ่งขึ้น
สะบัด หมายถึง การดำเนินทำนองที่มี 3 พยางค์ ติดต่อกัน มีระยะเวลาเท่ากับพยางค์เดียว
เขย่า เป็นวิธีบรรเลงอังกะลุงด้วยการเขย่าแทนการตี ลักษณะอาการเขย่านี้จะผลักอังกะลุงไปข้างหน้าประมาณ 3-5 นิ้ว และดึงกลับไปกลับมาในระยะเดียวกัน ปฏิบัติอย่างนี้เร็ว ๆ ยิ่งเร็วเท่าไรเสียงยิ่งละเอียดและดัง แรงขึ้น
กรอ หมายถึงวิธีบรรเลงดนตรีประเภทตี เป็นคู่แปดหรือคู่สี่ มือซ้ายและมือขวาบรรเลงสลับกันถี่ ๆหากเป็นอังกะลุง การกรอจะมีลักษะเช่นเดียวกับการเขย่า
ลัก หรือลักจังหวะ หมายถึงการร้องหรือบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี ซึ่งดำเนินไปโดยไม่ตรงกับจังหวะเป็นการกระทำโดยเจตนา เพื่อให้เกิดความไพเราะ หรือเร้าอารมณ์ไปอีกทางหนึ่ง
ลูกล้อ เป็นการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่งที่แบ่งเครื่องดนตรีออกเป็น 2 พวก พวกหน้า ( บรรเลงก่อน ) พวกหลัง ( บรรเลงทีหลัง ) 2พวกนี้บรรเลงผลัดกันคนละที ล้อ หมายถึง พวกหน้าบรรเลงอย่างใด พวกหลังบรรเลงอย่างนั้น
ลูกขัด เป็นการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่งที่แบ่งเครื่องดนตรีออกเป็น 2 พวก พวกหน้าบรรเลงอย่างหนึ่ง พวกหลังบรรเลงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำนองไม่เหมือนกับพวกหน้า
ลูกบท ได้แก่เพลงเล็ก ๆ ที่นำมาบรรเลงต่อจากเพลงใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแม่บท เพลงเล็ก ๆ เรียกว่า ลูกบท
ลูกหมด เป็นชื่อเพลงประเภทหนึ่ง เป็นเพลงสั้น ๆ มีจังหวะเร็ว สำหรับบรรเลงต่อท้ายเพลงต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าจบเพลง
ส่ง แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
   1. เป็นการบรรเลงนำทางให้คนร้องต่อไปได้สะดวกและถูกต้อง หรือเรียกว่า ส่งหางเสียง
   2. เป็นการร้องที่มีดนตรีรับ เรียกว่า ส่ง เหมือนกัน แต่เราเรียกว่าร้องส่ง
สวม การบรรเลงดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือเครื่องดนตรีทั้งหมด บรรเลงเหลื่อมล้ำเข้ามาในตอนท้ายก่อนของผู้อื่น
สอด เป็นการบรรเลงเพลงชนิดหนึ่งที่แทรกเข้ามาในระหว่างมีการร้องหรือเครื่องดนตรีอย่างอื่นหยุด
สำเนียง หมายถึงกระแสของทำนองเพลงที่ประดิษฐ์ขึ้น กระทำให้เกิดความรู้สึกและทราบไดว่าเป็นเพลงจำพวกใด ชนิดใด และภาษาใด
ขับร้อง การเปล่งเสียงที่มีลำนำ ทำนอง โดยอาศัยบทกวี เป็นบทเปล่งเสียงซึ่งเป็นศิลปะที่ประณีตขึ้นกว่าคำพูดธรรมดา แยกเป็น 2 ประเภท คือการขับ การร้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น